สื่อมวลชนไทยปรับตัวไวรับการทำงานยุควิกฤตโควิด-19


เอ พับลิซิสท์ เผยผลสำรวจการปรับตัวของสื่อมวลชนไทยในการทำงานข่าวช่วงวิกฤตโควิด-19 พบสื่อไทยปรับตัวรับการทำงานแบบมีระยะห่างได้ไว แนวโน้มร่วมงานแถลงข่าวแบบไลฟ์สตรีมมิ่งสูงขึ้น ชี้ประเด็นฮอตหลังจากนี้ไม่ใช่แค่ผลกระทบโควิด-19 แต่ต้องชูกลยุทธ์ปรับชีวิตและธุรกิจรับ New Normal

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 (COVID-19) ทำให้ทุกอย่างรอบตัวแทบจะหยุดนิ่ง ภาคอุตสาหกรรมแทบจะหยุดสายการผลิต ภาคธุรกิจหลายแห่งหยุดชะงัก นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ภาครัฐที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อกำหนดนโยบายแล้ว “สื่อมวลชน” คือหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ยังคงต้องทำงานหนักทุกวัน เพราะดูเหมือนว่าความกระหายในข้อมูลข่าวสารทั้งจากภาครัฐ และภาคธุรกิจช่วงวิกฤต ดูจะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ แต่การออกไปทำงานข่าว สัมภาษณ์แหล่งข่าว ล้วงลึกหาข้อมูลอย่างที่เคยนั้นทำได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องมีระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing)  ให้กับแหล่งข่าว และยังต้องระแวดระวังไม่ให้ตัวเองสัมผัสเชื้อแล้วแพร่กระจายไปสู่เพื่อนร่วมงานและครอบครัวอีกด้วย สื่อมวลชนไทยปรับตัวรับสถานการณ์นี้อย่างไร ขณะเดียวกันพีอาร์หรือฝ่ายสื่อสารองค์กรต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานข่าวของสื่อมวลชนได้อย่างไรบ้าง

เอ พับลิซิสท์ บริษัทที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดทำแบบสำรวจ การปรับตัวของสื่อมวลชนไทยในการทำงานข่าวช่วงวิกฤตโควิด-19” เพื่อร่วมหาแนวทางการทำงานระหว่างพีอาร์และสื่อมวลชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 และสร้าง New Normal ฐานวิถีการทำงานใหม่ ทั้งในด้านนโยบายการทำงาน คอนเทนต์ที่สื่อต้องการสำหรับการทำงานในห้วงเวลาวิกฤตในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประชาสัมพันธ์ในภาพรวม โดยมีกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนทั้งกระแสหลัก และกระแสรอง จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อออนไลน์ ร่วมทำแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 60 ท่าน

ท่ามกลางการแพร่ระบาด แต่สื่อไม่หยุดบทบาท

จากผลสำรวจพบว่า นโยบายด้านการนำเสนอข่าวสารขององค์กรสื่อต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 50 ยังคงให้น้ำหนักการเสนอข่าวทั่วไปเป็นปกติ ในขณะที่ร้อยละ 47 นำเสนอข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 มากกว่าข่าวอื่น ๆ

ส่วนนโยบายด้านสถานที่ทำงาน องค์กรสื่อส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 43  ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะทางสังคม โดยอนุญาตให้พนักงานหรือผู้สื่อข่าวทำงานแบบ Work-From-Home ในขณะที่บางองค์กร หรือร้อยละ 32 มีพนักงานบางส่วนคงทำงานที่สำนักงาน และมีเพียงร้อยละ 8 ที่ให้พนักงานทุกคนทำงานที่สำนักงานตามปกติ  และส่วนสื่อมวลชนร้อยละ 17 มีการเข้าสำนักงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือตามความสะดวกของพนักงาน

ช่วงวิกฤต - แบรนด์สื่อสารน้อยลง แต่สื่อยังคงต้องการคอนเทนต์

นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 สื่อมวลชนกว่าร้อยละ 43 ยอมรับว่าได้รับชิ้นข่าวประชาสัมพันธ์จากแบรนด์และพีอาร์น้อยลง ในขณะที่สื่อมวลชนหรือฝ่ายผลิตคอนเทนต์ก็มีความต้องการเนื้อหา ประเด็นข่าวเพื่อนำเสนอและเติมเต็มพื้นที่สื่อของตนเองในช่วงการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าร้อยละ 85 ต้องการเนื้อหาข่าวสารที่มีความเกี่ยวข้องกับโควิด-19 ตามมาด้วยต้องการข่าวความเคลื่อนไหวของธุรกิจทั่วไปร้อยละ 75 รวมถึงเนื้อหาข่าวสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เลยร้อยละ 53 และอีกร้อยละ 28 ยังเป็นการต้องการข่าวบันเทิง หรือวาไรตี้

            ทั้งนี้ ช่องทางการรับข่าวสารที่สื่อมวลชนสะดวกมากที่สุดในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 อันดับแรก หรือร้อยละ 93 ยังคงเป็นอีเมล รองลงมาคือแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ร้อยละ 78 และเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ (Facebook Messenger) ร้อยละ 27

ทำงานแบบออนไลน์ ไลฟ์สตรีมมิ่งคึกคัก  

ด้วยมาตรการระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ทำให้รูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือเผยแพร่ข่าวสาร โดยเฉพาะในลักษณะ Face-to-Face รวมทั้งการรวมกลุ่มคนจำนวนมากนั้นทำได้ยากขึ้น ดังนั้นรูปแบบของการรับข่าวสาร หรือการเข้าถึงข่าวสารและแหล่งข่าวของสื่อมวลชนในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83 ยังคงมาจากข่าวประชาสัมพันธ์ที่แบรนด์หรือพีอาร์ส่งให้ รองลองมาร้อยละ 77 เป็นการเข้าร่วมงานแถลงข่าวหรือการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ (Live Streaming) สัมภาษณ์แหล่งข่าวทางโทรศัพท์ร้อยละ 69 และสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านสื่อออนไลน์ร้อยละ 60 โดยมีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ที่ยังคงเข้าร่วมงานอีเว้นท์หรือแถลงข่าวทั่วไปเป็นปกติ

เนื่องจากการรักษาระยะห่างและการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ยากขึ้น ทำให้สื่อมวลชนเปิดกว้างในการเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะ Live streaming / Virtual Event หรือการแถลงข่าวแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดงาน แต่ก็มีสื่อมวลชนตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมรูปแบบนี้มากถึงร้อยละ 78 โดยจากการสอบถามจำนวนครั้งของการร่วมงาน ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่ามีการเข้าร่วมงานในรูปแบบ Live streaming มากกว่า 6 ครั้ง และ เข้าร่วม 4-6 ครั้ง ในอัตราส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 36 เข้าร่วม 2 – 3 ครั้ง จำนวนร้อยละ 24

แถลงข่าว Live Streaming ไม่ใช่ปัญหา แต่ผู้บริหารและพีอาร์ต้องเตรียมพร้อมเสมอ

จากผลสำรวจ พบว่า รูปแบบการจัดงาน Live streaming มีแนวโน้มได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยด้านการเว้นระยะห่าง แต่อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ผู้บริหาร พีอาร์ หรือฝ่ายสื่อสารองค์กรในการทำงาน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดงานลักษณะ Live Streaming ในอนาคต โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ได้แก่

·    ข้อมูลเอกสาร (Press Kit) อาทิ ข่าวประชาสัมพันธ์ ภาพประกอบที่ช่วยสนับสนุนเนื้อหา ควรจัดส่งให้แก่สื่อมวลชนก่อนเริ่มงาน หรือจัดทำระบบสแกน QR Code เพื่อรับเอกสาร ระหว่างการแถลงข่าวได้

·      เนื่องจากบางแพลตฟอร์มของการ Live Streaming หรือประชุมออนไลน์ อาจมีข้อกัดด้านเวลา ดังนั้น พีอาร์ควรมีการซักซ้อมประเด็นในการแถลงข่าวให้กับผู้บริหาร ควรจัดทำเนื้อหาให้เข้าใจง่าย สั้นกระชับ และตรงประเด็น

·    ระหว่างการ Live Streaming ภาพที่ถ่ายทอดออกไปไม่ควรเป็นภาพผู้แถลงข่าวเพียงมุมเดียว ควรแสดงให้เห็นภาพบรรยากาศ หรือมีสไลด์เนื้อหาประกอบระหว่างการแถลงข่าวด้วย

·      ควรเผื่อเวลาให้สำหรับช่วงถาม-ตอบ (Q & A) อย่างน้อย 15-30 นาที

·    ในบางแพลตฟอร์มที่แก้ปัญหาเรื่องเสียงรบกวนได้ยาก ผู้จัดงานควรรวบรวมแนวคำถามจากสื่อมวลชน พร้อมคัดกรองก่อนล่วงหน้า และส่งให้ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ถามเพียงท่านเดียว เพื่อความกระชับในการตอบคำถาม 

ประเด็นดีไม่ได้มีแค่เรื่องโควิด-19 แต่ต้องมีเรื่องปรับชีวิตและปรับธุรกิจรับ New Normal
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นข่าว เพื่อให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารองค์กรได้นำไปสร้างสรรค์ให้ตรงกับความต้องการ ได้แก่

·      บทความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ยังเป็นประเด็นที่นักข่าวให้ความสนใจ ทั้งในปัจจุบันหรือการพัฒนาไปจนถึงยุคหลังโควิด-19 จะได้รับการพิจารณานำเสนอได้เร็วกว่าข่าวทั่วไป แต่ควรมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ อาทิ จากแพทย์ หรือนักวิชาการ และควรมีการแนบคำแปลศัพท์เฉพาะทางไปด้วยทุกครั้ง

·      ประเด็นเกี่ยวกับ New Normal ของแต่ละธุรกิจ ควรนำเสนอเนื้อหาข้อมูล หรือความคิดเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับการฝ่าวิกฤต แผนฟื้นฟู กลยุทธ์เชิงปฏิบัติเพื่อปรับตัวสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนความเคลื่อนไหว แนวทางการรับมือ และมุมมองในการหาโอกาสใหม่ ๆ ผู้ประกอบการ มากกว่าการเสนอขายสินค้าเพียงอย่างเดียว

·      บางครั้งเนื้อหาไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องโควิด-19 อย่างเดียว สามารถนำเสนอเนื้อหาเรื่องอื่นที่สร้างสรรค์ มุมมองในเชิงบวก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในสถานการณ์ปัจจุบันได้  หากเป็นไปได้ ควรสร้างสรรค์ประเด็นข่าวที่แตกต่างกันระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน

            นอกจากนี้ ในภาพรวมสื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังมองว่าฝ่ายสื่อสารองค์กร หรือพีอาร์ มีการปรับการทำงานเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี