ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงเนื้อหา (content) ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น พฤติกรรมการเสพสื่อต่างๆ ของมนุษย์เราก็เปลี่ยนแปลงไปจากช่องทางที่มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่ม แบบอิเล็กทรอนิกส์ รูปภาพ หรือ วิดีโอคอนเทนต์ ทำให้ “นักสร้างคอนเทนต์” ต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีและน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้คนอ่านเกิดแรงบันดาลใจและนำสิ่งที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างเกิดประโยชน์ หรือที่เรียกว่า “Bring Content to Life” โดย 3 นักเขียนชื่อดังอย่าง “รอมแพง”- จันทร์ยวีร์ สมปรีดา “วรรณวรรธน์”- วรรธนวรรณ จันทรจนา และ “แสตมป์เบอร์รี่”- พิไลมาศ ค้ำชู ได้แชร์มุมมองในฐานะผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณค่าสอดแทรกแง่คิดในเนื้อหาเหล่านั้น และสะท้อนชีวิตจริงของมนุษย์ออกมาได้อย่างไร จากการเสวนา The Art of Bringing Content to Life - ถอดบทเรียนความสำเร็จนิยายดัง จากบทประพันธ์ สู่บทโทรทัศน์ เป็นละครเรทติ้งดีในจอทีวี จนเกิดกระแสตอบรับดีในโลกออนไลน์
รอมแพง-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของบทประพันธ์ บุพเพสันนิวาส ที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครน้ำดี ฮิตติดจอ จนเกิดกระแสวลีเด็ดมากมายทางโซเชียลมีเดีย เล่าว่า “ปัจจุบันนี้คนอ่านสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นจากอินเทอร์เน็ต เพราะมีแหล่งความรู้มากมาย เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เราต้องการจะเขียนก็มีเผยแพร่ไปหมดแล้ว ดังนั้นการจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้น่าสนใจควรจะเป็นเนื้อหาที่ “แปลกใหม่มีประโยชน์” แม้จะเป็นเรื่องที่คนรู้แล้วแต่ก็หามุมมองในการนำเสนอเพื่อให้คนอ่านเกิดความสนใจและอยากอ่าน พร้อมทั้งใส่เอกลักษณ์วิธีการเขียนที่เน้นคอมมาดี้เข้าไปเพื่อสร้างการจดจำ ดังเช่นการใช้ “คำดีวลีโดน” ในหลายๆ ฉากของ “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งได้นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชั้นครูนำไปสร้างสรรค์จนคนจดจำได้ ตัวผู้เขียนก็ต้องเปิดรับสื่อหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้รู้จักกับคำและความหมายต่างๆ แล้วจึงเลือกใช้คำเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เนื้อหาในแบบฉบับของเรา จนมาถึงเรื่อง “พรหมลิขิต” ที่เป็นการเขียนนิยายเพื่อสร้างเป็นละคร แม้จะมีความกดดันเพราะต้องอิงจากตัวตนนักแสดงที่คนจดจำภาพได้แล้วจากบุพเพสันนิวาสเป็นหลัก แต่ก็พยายามเขียนและสอดแทรกเรื่องราวความรู้ทางประวัติศาสตร์และประเพณีที่น่าสนใจเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่าน และเข้าถึงคนชมละครให้ได้”
ด้าน วรรณวรรธน์-วรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของบทประพันธ์ ฤกษ์สังหาร ที่กำลังออนแอร์อยู่ขณะนี้ และหลายคนจดจำได้จากละคร ข้าบดินทร์ ที่ทำเอากระแสรักชาติกลับมาอีกครั้ง เล่าว่า “เชื่อว่านักเขียนทุกคนนั้นต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ดีให้แก่คนอ่านไม่ว่าจะเป็นความรู้เฉพาะทาง สร้างแรงบันดาลใจหรือปลุกจิตสำนึก เมื่อก่อนเขียนนิยายขึ้นมาเพื่อการอ่านเพียงอย่างเดียวจึงใส่จินตนาการไปเต็มที่ทุกฉากทุกตอน ทำให้หลายเรื่องไม่สามารถนำมาทำเป็นละครได้เพราะต้นทุนด้านโปรดักชั่นจะสูงมาก กลุ่มคนอ่านก็จะอยู่แค่หลักหมื่นจากหนังสือ อย่าง “ฤกษ์สังหาร” ตั้งใจเขียนเพื่อให้คนรับรู้ว่าโหราศาสตร์ที่หลายๆ คนเชื่อนั้น มีทั้งแง่มุมที่ดีและไม่ดี ผู้รู้สามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ ส่วน “ข้าบดินทร์” นั้นตั้งใจเขียนเพื่อให้เป็นละครโดยเฉพาะ ต้องการขยายการรับรู้คอนเทนต์ไปให้ได้ถึงหลักล้านคนผ่านจอทีวี จึงผ่านการ “สืบค้นข้อมูล” ข้อมูลมาอย่างดีเพราะอยากให้คนไทยรู้ซึ้งถึงความรักชาติว่ากว่าจะเป็นแผ่นดินไทยได้นั้นยังมีคนและช้างกลุ่มนี้ที่ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมืองมากมาย ดังนั้นจะคิดอยู่บนพื้นฐานการผลิตตั้งแต่แรก เมื่อถูกนำมาถ่ายทอดเป็นละครที่เข้าถึงจิตใจผู้ชมได้นั้นปลื้มใจมากแม้จะต้องใช้เวลานานหลายปีก็ตาม”
ส่วนนักเขียนนิยายขวัญใจวัยรุ่นอย่าง แสตมป์เบอร์รี่-พิไลมาศ ค้ำชู เล่าว่า “ก่อนจะเริ่มเป็นนักเขียนนั้นตนเองเป็นนักอ่านมาก่อน การ “อ่านให้มาก” จะช่วยให้เรียนรู้ถึงการวางเค้าโครงเรื่อง ภาษา รวมถึงวิธีการเล่าเรื่อง เป็นการพัฒนาทักษะการเขียน ช่วยเสริมไอเดีย และเอกลักษณ์ในการเขียน ซึ่งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้น่าดึงดูดควรจะมีเนื้อหาที่ “สะท้อนให้เห็นภาพ” จากการใช้ไอเดียใหม่ๆ มุมมองที่ยังไม่ถูกใครนำเสนอ ซึ่งสามารถหาได้จากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเป็นข่าวสาร หรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเรื่อง “Badz - Boy For Rent” ก็ได้ไอเดียจากข่าวของคุณลุงท่านหนึ่งรับจ้างเป็นผู้ปกครองให้เด็ก เรานำมาดัดแปลงเป็นนิยายวัยรุ่นที่ก่อให้เกิดจินตนาการต่อเนื่องไปในอีกมุมมอง”
สำหรับนัก (อยาก) ปั้นคอนเทนต์ดีๆ ลองเริ่มต้นจากการหยิบหนังสือดีๆ มาอ่านสักเล่ม หรือหาเวลาไปฟังเสวนาดีๆ จากนักคิดนักเขียนที่อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอด ในงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24” ยกขบวนไปอิมแพ็ค (Book Expo Thailand 2019) หนังสือดีมีชีวิต วันที่ 2 – 13 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook Fanpage: Book Thai