3 ปี ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข คนกรุงเทพฯ-อุบล กายฟิต-จิตดี


มูลนิธิไฟเซอร์ - คีนัน ร่วมสรุปผลการดำเนินโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” เตรียมพร้อมประชากรวัย 45+ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ พบ 3 ปี กลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯ และอุบลฯ กายฟิต-จิตดี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90 พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค NCDs ลดลง เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ในชุมชน กว่า 40 คน ต่อยอดสู่ 27 โครงการขนาดย่อมเพื่อพัฒนาชุมชน พร้อมผลักดันภาครัฐ หรือผู้กำหนดนโยบายด้านผู้สูงวัยระดับประเทศเร่งเครื่อง ในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความตระหนักในการมีสุขภาวะที่ดี และการมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต สนับสนุนการนำโครงการต้นแบบไปปรับใช้ โดยบุคลากรในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินงานเอง ลดผลกระทบด้านสุขภาพ-สังคม-เศรษฐกิจ และเข้าสู่สังคมสูงวัยคุณภาพอย่างยั่งยืนเทียบเท่านานาประเทศ

ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า “สังคมสูงวัย” ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับชาติ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอัตราเร่งที่เร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม วิถีความเป็นอยู่ สุขภาพ แรงงานและการจ้างงาน เทคโนโลยี การศึกษาและการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต และการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ล้วนกระทบกับคนทุกวัยไม่ใช่แค่เพียงผู้สูงวัยเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผนึกกำลังพร้อมสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” ที่มีคุณภาพของไทย

  “มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย” (Pfizer Thailand Foundation) และ “มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย” (Kenan Foundation Asia) เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข (Pfizer Healthy Aging Society)” โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรวัยก่อนสูงอายุ และวัยสูงอายุ เพื่อนำไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “กายฟิต จิตดี มีออม” ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ.2559 - 2562) ในพื้นที่เป้าหมายคือ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตย และเขตบางขุนเทียน) และอุบลราชธานี (อำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ) โดยเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งระดับประเทศและชุมชน มีการคัดเลือกผู้ที่มีอายุระหว่าง 45 – 59 ปี (pre-seniors) ใน 4 กลุ่มหลัก คือ อาสาสมัครสาธารณสุข ครู บุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับท้องถิ่น เข้าร่วม

ภารกิจหลักของโครงการ คือ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้าง ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents)” ที่ได้รับความรู้และทักษะจำเป็นเกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการอบรมและกิจกรรมภายใต้หัวข้อต่าง ๆ  ได้แก่ โรคติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) โภชนาการ (Nutrition) สุขภาพจิต (Mental Health) ความตระหนักรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) การจัดสภาพแวดล้อมเอื้อต่อผู้สูงอายุ สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ชุมชน เป็นต้น ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ ได้กลายมาเป็นผลผลิตด้านบุคลากรที่สำคัญกว่า 41 คน ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์โครงการที่ช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองถึง 27 โครงการ และจะนำเอาองค์ความรู้ไปพัฒนากลุ่มหรือชุมชนของตนให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ผลผลิตที่ดีที่เกิดขึ้นในโครงการ นอกจากจะเป็นทรัพยากรบุคคลแล้ว ยังได้สร้างคู่มือ “รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” จำนวน 2,000 เล่ม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกเพศทุกวัยในการนำไปใช้เป็นคู่มือสุขภาวะในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้บริหารชั้นนำขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendation)” ซึ่งมีสาระสำคัญได้แก่ 1. การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่การเป็นสังคมสูงวัยแบบพฤตพลัง (Active Aging) 2. โอกาสในการประกอบอาชีพ และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3. การพัฒนาทักษะและความรู้ทางการเงิน 4. การส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี 5. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกวัย โดยมุ่งหวังผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติในระดับนโยบายของประเทศ ต่อการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยที่พร้อมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจในระดับประเทศ” ดร.นพ.นิรุตติ์ กล่าว

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการว่า โครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข” มุ่งหมายสร้าง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่จะมีพฤติกรรมเชิงบวกด้านสุขภาพ การเงิน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่ตนอยู่ร่วม ด้วยความคาดหวังหลัก 3 ประการด้วยกันคือ (1) เพื่อพัฒนาศักยภาพ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ทั้งด้านการตระหนักรู้ทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ (2) เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดทัศนคติที่ดี สร้างพฤติกรรมสุขภาพเชิงบวก ที่มีส่วนช่วยลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มก่อนสูงอายุและผู้สูงวัย  และ (3) เพื่อสร้างแบบปฏิบัติที่ดีในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย ที่มีความยั่งยืน และปรับใช้ในบริบทสังคมไทยได้ โดยมีการดำเนินงานใน 4 องค์ประกอบหลัก คือ การสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders Engagement) การพัฒนาศักยภาพ (Strengthening Capacity) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (Promotional Campaign) และ การติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation)

ด้านการสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง  จากการดำเนินงานมาตลอดระยะเวลา 3 ปี โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจาก 14 หน่วยงาน ในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ (Steering Committee) ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ (Local Stakeholders) มากกว่า 21 แห่ง และมากกว่า 12 หน่วยงานทางวิชาการ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิทยากรในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายของโครงการ มีผู้ผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 181 คน และส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ได้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” ร่วมสร้างสรรค์โครงการที่ช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองมากกว่า 27 โครงการ ส่งผลถึงคนในชุมชนมากกว่า 5,000 คน โดยมีโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการออกกำลังกายด้วยโยคะของชุมชนแฟลต 1-10 เขตคลองเตย ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้รักสุขภาพ โครงการ “ลูกหมูสู่ลูกมด รู้อดรู้ออม เพื่อความพร้อมวัยเกษียณ” ของโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน ที่มี “คุณครู” ผู้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา สนับสนุนการออกกำลังของนักเรียนที่น้ำหนักเกินมาตราฐาน แนะนำด้านโภชนาการที่ดี

ด้านการพัฒนาศักยภาพ มีการฝึกอบรมกว่า 25 ครั้ง โดยวิทยากรจากสถาบันวิชาการหลากหลายด้าน เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ กินอยู่อย่างไร ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การประเมินสัดส่วนร่างกายและแปลผล การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ การวิเคราะห์ชุมชน การพัฒนาโครงการ และการอบรมผู้นำต้นแบบ เป็นต้น

 ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มีการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเงิน ตามแนวคิดของโครงการ คือ “กายฟิต จิตดี มีออม” ทั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ และอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง มีผู้เข้ากิจกรรมทุกเพศทุกวัย เยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ รวมกว่า 1,319 คน

ส่วนการติดตามและประเมินผล เป็นการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องผ่าน “KAP survey: Knowledge, Attitude & Practice Survey” เพื่อทราบถึงความเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลและระดับชุมชน ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ สุขภาพกาย (กายฟิต) สุขภาพจิต (จิตดี) การเงิน (มีออม) และอื่นๆ พบว่า

กายฟิต - ผู้เข้าร่วมโครงการมากกกว่าร้อยละ 90 มีความรู้ (Knowledge) เรื่องการออกกำลังกายว่าต้องทำต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที มีความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง มีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีต่อการดูแลสุขภาพ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม (Practice) เช่น กว่าร้อยละ 86 มีการตรวจร่างกายประจำปี กว่าร้อยละ 80 ออกกำลังกายแบบง่าย อาทิ เดินแกว่งแขน ทำงานบ้าน อัตราการบริโภคอาหารติดมันและเครื่องในสัตว์ และอาหารรสหวานลดลง  

จิตดี - ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสุขภาพจิตที่ดีเป็นพื้นฐาน และจากการประเมินด้วย TMHI-15 พบว่ากว่าร้อยละ 60 มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่มีภาวะซึมเศร้า และสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี

มีออม - ผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 80 มีความรู้ด้านการออมเงินผ่านธนาคาร การประกันภัย การประกันชีวิต รวมถึงมีทัศนคติที่ดีหรือเห็นด้วยว่าการวางแผนการใช้เงิน การวางแผนการเงินเพื่อดูแลสุขภาพ การทำบัญชีรายเดือน นั้นมีความจำเป็น  โดยร้อยละ 60-75 มีทัศนคติที่ดีที่ต้องการการจัดทำบัญชีใช้จ่าย บัญชีครัวเรือน แต่พบว่ามีเพียงร้อยละ 10-20 ที่สามารถทำได้จริง ร้อยละ 35-50 มีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้าทุกเดือน มีการวางแผนการออมเพื่อการเกษียณร้อยละ 49 ในขณะที่ยังมีสูงถึงร้อยละ 25 ที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ และยังพบว่ามีภาวะหนี้สินถึงร้อยละ 61 โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ระยะเวลาในสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดการวางแผนการเงินที่ดีเพิ่มขึ้นในชุมชนของตนเอง

ส่วนในด้านอื่นๆ พบว่าว่าร้อยละ 60 มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีมากกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนประชากร ซึ่งกว่าร้อยละ 75 มองว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระ สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ มากกว่าร้อยละ 90 ที่เชื่อมั่นว่าสามารถเสียสละเวลาและแรงงานเพื่อร่วมกิจกรรมในชุมชน และสามารถสื่อสารเพื่อรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชนได้ เป็นต้น

“เป้าหมายหลักคือการสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรวัยก่อนวัยสูงอายุและวัยสูงอายุ เพื่อนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สามารถประยุกต์และปรับใช้ได้กับบริบทของสังคมไทยได้จริง โดยขณะนี้เรามีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับรายบุคคลที่มีพฤติกรรมเชิงบวกด้านสุขภาวะ เป็นแกนนำจัดประชุมเครือข่ายสังคมสูงวัยในพื้นที่ ได้ใช้ความรู้และทักษะจากการอบรมกับโครงการฯ ไปใช้กำหนดแนวทางจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนของตน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จ คือการได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญในการให้ข้อเสนอแนะและร่วมสร้างกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดให้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกกระบวนการ บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ รับข้อมูลที่ทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะทำงานในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และอุบลราชธานี รวมทั้งกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรได้รับการพัฒนาและยกระดับสู่การเป็น "เครือข่ายเกื้อหนุน" (Collaboration Network) ให้แก่ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของชุมชน และระบบการเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับจังหวัด เขต/อำเภอ เกิดเป็นรูปแบบของ Collaborative Ecosystem for Aging Society District ต่อเนื่องไปจนถึงระดับประเทศโดยผ่านหน่วยงานภาครัฐที่จะนำโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข (Pfizer Healthy Aging Society)” เป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) ได้อย่างยั่งยืนทั่วทั้งประเทศ

คณะทำงานโครงการ มุ่งที่จะสร้างการร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการนำโครงการต้นแบบไปใช้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับนโยบายด้านผู้สูงอายุในระดับประเทศ อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น  

Tags: มูลนิธิไฟเซอร์ คีนัน สังคมสูงวัย กายฟิต จิตดี มีออม